ทำความรู้จักหลักการแก้หนี้ครัวเรือนฉบับแบงก์ชาติ

ทำความรู้จักหลักการแก้หนี้ครัวเรือนฉบับแบงก์ชาติ
ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมายาวนาน และรุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมาที่ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่งสูงกว่า 90% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหากไม่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า รวมถึงเป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงแบงก์ชาติเองได้ดำเนินมาตรการแก้หนี้มาอย่างต่อเนื่องโดยยึดตาม 3 หลักการสำคัญ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอพูดถึงเรื่องนี้ค่ะ
หลักการแก้หนี้ของแบงก์ชาติ ด้านแรกคือ ต้องแก้ปัญหาอย่างครบวงจร เหมาะสมกับทั้งลักษณะและสาเหตุในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ ก่อนจะก่อหนี้ ทั้งด้านลูกหนี้ที่ต้องสร้างวินัยและความรู้ทางการเงิน โดยการก่อหนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป ตราบใดที่ไม่ใช่การก่อหนี้เกินตัวและขาดการวางแผน ขณะเดียวกันด้านเจ้าหนี้ก็ต้องปล่อยหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้กู้ เช่น การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบที่ธนาคารพิจารณาให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญต่อการมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของผู้กู้เป็นสำคัญ ถัดมา ขณะเป็นหนี้ ต้องมีช่องทางช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เช่น กลไกการคำนวณดอกเบี้ยที่อยู่บนความเสี่ยงที่จะช่วยให้ลูกหนี้ดีได้ดอกเบี้ยลดลงเหมาะกับความเสี่ยงของตน และมีแนวทางรีไฟแนนซ์หนี้ที่สะดวกขึ้นภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม ท้ายสุด หากมีปัญหาชำระหนี้ ควรมีกลไกสนับสนุนการแก้หนี้ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ลูกหนี้หลุดจากวงจรหนี้ได้จริง อาทิ การไกล่เกลี่ยหนี้นอกศาล การแก้หนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย